EN | TH
Dentist Dental In Pattaya
Tel: (038)488354 , (038)488355
 

Cosmetic Crowns & Bridges

At OrthoSmile our team of specialists are renowned for their work with braces, dental implants in the "Aesthetic Zone", cosmetic porcelain veneers, ceramic crowns, Invisalign clear braces, and gum contouring surgery. Our dentist team have been educating in the field of cosmetic dentistry for decades and continuing to lead the way in the advancement of cosmetic dental materials, cosmetic periodontal surgery and cosmetic dental implant reconstructions in Thailand.

Cosmetic Crowns & Bridges Case Gallery

ทันตกรรมใส่ฟัน (Prosthetic Dentistry)

ทันตกรรมประดิษฐ์ (ใส่ฟัน)

คือ การบูรณะฟัน อวัยวะในช่องปาก ใบหน้าและขากรรไกร ด้วยวัสดุประเภทต่างๆที่ประดิษฐ์ขึ้น ให้คงไว้ซึ่งการทำงาน ความสะดวกสบาย และความสวยงามของช่องปาก โดยการบูรณะฟันธรรมชาติ ทดแทนฟันธรรมชาติที่สูญเสียไป

ทันตกรรมประดิษฐ์เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่ช่วยทดแทนฟันที่สูญเสียไปและแก้ไขปัญหาฟันที่เปราะบางหรือแตกหัก ซึ่งมีวิธีการต่างๆ ดังนี้

ครอบฟัน

ครอบฟัน ครอบฟันมีลักษณะเหมือนฟันตามธรรมชาติ ใช้ครอบบนฟันจริง เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรง ปรับปรุงรูปร่างและสีให้มีความสวยงาม ใช้เป็นตัวยึดสะพานฟัน และใช้เพื่อครอบบนรากฟันเทียม

ครอบฟัน เป็นวิธีการบรูณะฟันธรรมชาติ ที่สูญเสียเนื้อฟันที่ดีออกไปมากเกินกว่าจะสามารถรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่นการอุดฟัน ทำ Inlays หรือ Onlays ได้ ควรทำ ครอบฟัน เพื่อคงสภาพเนื้อฟันที่เหลืออยู่ไว้และทดแทนส่วนที่สูญเสียไป ในการทำ ครอบฟัน จำเป็นต้องกรอเนื้อฟันออกเพื่อการยึดติดของครอบฟัน

ครอบฟันมีหลายประเภท ได้แก่ ครอบฟันทั้งซี่ (Full Veneer Crown) และประเภทคลุมเพียงบางส่วน (Partial Veneer Crown)

ฟันที่รักษารากฟันมาแล้วส่วนใหญ่เนื้อฟันที่ดีจะเหลือน้อยและฟันจะเปราะบางกว่าปกติ ทำให้เกิดการแต่หักได้ง่าย จึงควรเสริมความแข็งแรงของฟันด้วยการทำครอบฟันร่วมกับการทำ เดือยฟัน (Post and Core) ฟันที่มีขนาดเล็ก เช่น ฟันหน้าและฟันกรามน้อย หลังจากรักษารากฟันมาแล้ว ควรที่จะทำเดือยฟันร่วมกับการทำครอบฟัน ส่วนฟันกรามใหญ่ที่มีเนื้อฟันดีเหลืออยู่มากแค่อุดโพรงฟันแล้วจึงทำครอบฟันก็เพียงพอ

สะพานฟัน

สะพานฟัน การทำสะพานฟันเป็นอีกวิธีการหนึ่งทางทันตกรรมที่ช่วยทดแทนฟันที่สูญเสียไปแบบติดแน่นถาวร ด้วยการติดยึดครอบฟันบนฟันซี่ข้างเคียงและเชื่อมต่อด้วยฟันปลอมระหว่างครอบฟันที่ใช้ทดแทนฟันที่สูญเสียไป

สะพานฟันเป็นทางเลือกหนึ่งทางทันตกรรมในการทดแทนฟันที่สูญเสียไป โดยการใช้ครอบฟันลอย (pontic)ใช้ทดแทนฟันทีสูญเสียไปและเป็นตัวเชื่อมครอบฟันที่เกาะยึดบนฟันซี่ข้างเคียง

คุณประโยชน์ของสะพานฟัน

  • ช่วยให้สามารถมีรอยยิ้มที่สวยงามได้ดังเดิม
  • ช่วยให้สามารถมีการบดเคี้ยวและการออกเสียงที่ดีได้ดังเดิม
  • ช่วยรักษารูปหน้าให้เป็นไปตามปกติ
  • ช่วยแบ่งกระจายแรงบดเคี้ยวให้เป็นไปตามปกติ
  • ช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงการรับแรงบดเคี้ยวที่มากเกินไปของฟันซี่ข้างเคียง
  • ช่วยให้หลีกเลี่ยงปัญหาการล้มของฟันซี่ข้างเคียงมายังช่องว่าง
  • ช่วยรักษาตำแหน่งและการทำงานของฟันให้เป็นไปตามธรรมชาติ
  • ช่วยรักษาการสบฟันให้เป็นไปตามปกติ

ประเภทของสะพานฟัน

สะพานฟันแบบธรรมดา

สะพานฟันแบบธรรมดาจะประกอบด้วยครอบฟันประเภทต่างๆแล้วแต่ความต้องการของผู้ป่วย ซึ่งจะมีครอบฟันลอย (Pontic) ที่ใช้ทดแทนฟันที่สูญเสียไปเป็นตัวเชื่อมครอบฟันที่ยึดติดบนฟันซี่ข้างเคียง การทำครอบฟันประเภทนี้เป็นที่นิยมทำกันโดยทั่วไป

สะพานฟันแบบมีหลักยึดข้างเดียว (Cantilever Bridges)

สะพานฟันประเภทนี้จะมีฟันซี่ข้างเคียงเพียงซี่เดียวที่ใช้ในการเกาะยึดสะพานฟัน

สะพานฟันแบบแมรี่แลนด์ (Maryland Bridges)

สะพานฟันแบบแมรี่แลนด์ (Maryland bridge) หรือ สะพานฟันที่ยึดด้วยวัสดุเรซิน (Resin-bond bridge) นั้น เป็นการทำสะพานฟันที่มีแกนโลหะและมีโลหะลักษณะคล้ายปีกที่ใช้ยึดติดด้านหลังของฟันด้านข้าง

ประเภทของวัสดุที่ใช้ในการทำสะพานฟัน

    ด้านข้าง ประเภทของวัสดุที่ใช้ในการทำสะพานฟัน
  • 1. สะพานฟันที่ประกอบด้วยครอบฟันแบบเซรามิกและโลหะ
  • 2. สะพานฟันที่ประกอบด้วยครอบฟันแบบเซรามิกล้วน
  • 3. สะพานฟันที่ประกอบด้วยครอบฟันแบบโลหะล้วน (ทอง)

สะพานฟันประเภทเซรามิกผสมโลหะ และแบบเซรามิกล้วนนั้นจะมีสีสันที่เหมือนฟันจริงตามธรรมชาติ โดยทันตแพทย์มักจะแนะนำให้ผู้เข้ารับบริการเลือกใช้สะพานฟันแบบเซรามิกผสมโลหะสำหรับการทดแทนฟันกรามซึ่งใช้ในการบดเคี้ยว และแบบเซรามิกล้วนในการทดแทนฟันหน้า ซึ่งสะพานฟันแบบเซรามิกล้วนจะให้ความใส สวยงาม เหมือนฟันตามธรรมชาติ ส่วนสะพานฟันแบบโลหะล้วนนั้นจะมี่ความแข็งแรงและทนทานมากที่สุด เนื่องจากไม่มีการบิ่นหรือ แตกเหมือนเซรามิก

ขั้นตอนการรักษาด้วยการทำสะพานฟัน

ขั้นตอนการรักษาด้วยการทำสะพานฟันแบบธรรมดา
  • 1. ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยและการเตรียมฟัน
    • การฉีดยาชาบริเวณฟันซี่ที่จะกรอเพื่อเป็นฐานของสะพานฟัน
    • การกรอฟันเพื่อเป็นฐานให้แก่สะพานฟัน
    • การจดบันทึก สี ขนาด รูปร่างของฟันที่ต้องการในการทำสะพานฟัน
    • การพิมพ์ปากเพื่อทำแบบจำลอง
    • แบบจำลองและรายละเอียดทั้งหมดจะถูกส่งไปยังห้องแลบเพื่อทำสะพานฟัน
    • ทันตแพทย์จะทำการติดสะพานฟันแบบชั่วคราวให้แก่ผู้ป่วยสำหรับใช้งานระหว่างการรอการผลิตสะพานฟันแบบถาวร
  • 2. ขั้นตอนการติดสะพานฟัน
    • การรื้อสะพานฟันแบบชั่วคราวออก
    • การติดยึดสะพานฟันแบบถาวรบนฟัน การตรวจเช็คและการปรับแต่งสะพานฟันให้มีความเหมาะสมที่สุด
  • 3. ขั้นตอนการดูแลรักษา
    • ทันตแพทย์จะให้คำแนะนำด้านการดูแลทำความสะอาดเพื่ออายุการใช้งานที่ยาวนาน

หมายเหตุ : ขั้นตอนการเตรียมฟันและการติดยึดสะพานฟันนั้นอาจก่อให้เกิดการเสียวฟันได้ ซึ่งอาการดังกล่าวจะสามารถหายได้เองในเวลาไม่นาน

ข้อปฏิบัติหลังการเข้ารับการทำสะพานฟัน

การดูแลเอาใจใส่เพื่อสุขภาพของปากและฟันที่ดีนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากสะพานฟันสามารถมีอายุการใช้งานที่ยาวนานได้ก็ต่อเมื่อฟันที่ใช้เป็นฐานรองรับสะพานฟันมีสุขภาพแข็งแรง

  • 1. หลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารที่มีความแข็งภายใน 24 ชั่วโมงหลังการติดยึดสะพานฟัน
  • 2. สามารถหลีกเลี่ยงการเกิดการบวมหรืออาการต่างๆได้โดยการบ้วนปากด้วยน้ำเกลือ ( เกลือ 1 ช้อนชา + น้ำอุ่น 1 แก้ว) อย่างน้อยวันละ 3 ครั้ง
  • 3. ควรดูแลความสะอาดบริเวณที่ติดสะพานฟันเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการเกิดโรคเหงือก
  • 4. อาการเสียวฟันอาจเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยบางท่าน โดยอาการดังกล่าวจะสามารถหายได้เองภายในเวลาไม่นาน ซึ่งถ้าเกิดอาการเสียวฟันผู้ป่วยควรปฏิบัติตนดังนี้ :
    • o หลีกเลี่ยงการดื่มหรือรับประทานอาหารที่ร้อน เย็นหรือมีความเป็นกรดสูง เช่นน้ำมะนาวเป็นต้น
    • การรับประทานยาแก้ปวดสามารถช่วยลดอาการเสียวฟันได้ระดับหนึ่ง
    • ควรเลือกใช้ยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปากที่มีสารฟลูออไรด์สูงซึ่งสามารถช่วยปัญหาการเสียวฟันได้
    • ควรทำความสะอาดอย่างถูกวิธี
  • 5. ควรเริ่มด้วยการรับประทานอาหารอ่อนๆจนกว่าจะเคยชินกับสะพานฟัน

วิธีการดูแลรักษาหลังเข้ารับการทำสะพานฟัน

  • 1. ควรทำความสะอาดด้วยการแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง การแปรงฟันหลังรับประทานอาหารเป็นการเริ่มวินัยที่ดีในการดูแลสุขภาพปากและฟันซึ่งเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติอย่างยิ่ง
  • 2. ควรทำความสะอาดด้วยไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1 - 2 ครั้ง
  • 3. ควรทำการบ้วนปากด้วยน้ำยาผสมฟลูออไรด์ก่อนนอนทุกวัน โดยทำกลั้วน้ำยาและอมไว้ในปากอย่างน้อย 1 นาที และไม่ควรดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารภายใน 30 นาทีหลังการบ้วนปาก
  • 4. ควรให้ความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเคี้ยวของแข็งบริเวณสะพานฟัน
  • 5. ควรพบทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน

การปลูกรากฟันเทียม

การปลูกรากฟันเทียม การปลูกรากฟันเทียมเป็นวิธีการสมัยใหม่ในการแทนที่รากฟันจริงตามธรรมชาติ โดยทันตแพทย์จะทำการฝังรากฟันเทียมลงบนกระดูกรองรับฟัน ซึ่งจะสร้างพื้นฐานที่มั่นคงให้แก่ฟันที่ใช้ทดแทนฟันที่สูญเสียไป

ฟันปลอม

ฟันปลอม ฟันปลอม เป็นการทดแทนฟันแบบถอดออกได้ โดยทั่วไปฐานฟันปลอมสามารถทำได้ด้วยพลาสติก และโลหะ ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้เข้ารับบริการ

ในระยะแรกๆของชีวิต เกือบทุกคนจะมีฟันแท้เกือบครบ เมื่อเวลาผ่านไปอาจเริ่มทยอยถอนไปทีละซี่ จนในที่สุดบางคนอาจไม่เหลือฟันแท้เลย จึงจำเป็นต้องทำ ฟันปลอม เพื่อช่วยในการบดเคี้ยว เพื่อความสวยงาม รวมไปถึงเพื่อช่วยในการออกเสียงที่ชัดเจนด้วย นอกจากนี้แล้ว ฟันยังสามารถช่วยลดหรือป้องกันการเสื่อมสภาพที่อาจจะเกิดขึ้นกับอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการบดเคี้ยวได้ เช่น การถอนฟันไปซี่เดียวอาจทำให้ฟันข้างเคียงล้ม เกิดช่องว่างระหว่างซอกฟัน เศษอาหารเข้าไปติดเกิดฟันผุ เหงือกอักเสบและโรคปริทันต์ตามมา ส่วนฟันคู่สบก็จะเกิดการเสื่อมสภาพ เนื่องจากไม่มีแรงกระตุ้นจาการบดเคี้ยวอาหาร ทำให้เกิดการละลายตัวของกระดูก เอ็นยึดปริทันต์แคบและบางลง อาจทำให้ฟันคู่สบยื่นยาวหรือห้อยออกมา ในภายหลังอาจต้องถอนฟันที่ยื่นนี้ออกและต้องตัดแต่งกระดูกที่ห้อยออกด้วย ในบางรายที่ถอนฟันหลังไปหมด จะมีผลเสียคือ คางจะรั้งขึ้น ทำให้ฟันหน้าสบกันที่ด้านปลายฟัน ทำให้ปลายฟันสึกหรือฟันหน้าล่างอาจไปกัดโดนเพดานทำให้เจ็บเหงือก หรือกัดโดนคอฟันบนทำให้ฟันบนยื่น ผู้ที่ทำครอบฟันหน้า ครอบฟันอาจแต่ได้เพราะต้องรองรับแรงมาก

อย่างไรก็ตามการใส่ ฟันปลอม ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อฟันที่เหลืออยู่ ช่วงระหว่างรอยต่อของฟันปลอมและฟันธรรมชาติอาจมีเศษอาหารติดอยู่ก็ให้เกิดฟันผุได้ ส่วนบริเวณที่ฟันปลอมปิดทับ เช่นเพดาน ขอบเหงือก จะขาดการกระตุ้นและทำความสะอาด ก่อให้เกิดการอักเสบได้เช่นกัน ส่วนฟันธรรมชาติที่รองรับฟันปลอมอาจถูกทำลาย อาจโยกและเจ็บปวดภายหลังได้

ฟันปลอมแบ่งเป็น 3 ลักษณะ

  • สะพานฟันหรือฟันปลอมชนิดติดแน่น
  • ฟันปลอมบางส่วนชนิดถอดได้
  • ฟันปลอมทั้งปาก

1. สะพานฟันหรือฟันปลอมชนิดติดแน่น

สะพานฟัน เป็นฟันปลอมที่มีลักษณะใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติโดยการกรอฟันซี่ข้างเคียง เพื่อทำครอบฟันเป็นหลักยึดของสะพานฟัน เพื่อทำฟันปลอม การทำครอบที่ฟันหลักจะช่วยป้องกันฟันผุและให้ความสวยงาม

กรณีที่เหมาะในการทำสะพานฟัน

  • - ระยะช่วงที่ถอนฟันออกไปเป็นช่วงสั้น มีฟันหน้าและฟันหลังของช่วงฟันที่ถอนไป
  • - ฟันหน้าที่ถูกถอนไป และมีสภาพสันเหงือกที่ปกติ
  • - ในรายที่สูญเสียฟันหลัง และเว้นช่องมีฟันหน้าหายไปด้วย ถ้าทำฟันปลอมชนิดถอดได้โดยใช้ฟันซี่โดดเป็นหลัก ฟันโดดจะไม่แข็งแรงพอจะเป็นฟันหลักได้ แต่ถ้าทำสะพานฟันยึดติดฟันหน้า ฟันโดดและฟันหลัง จะได้ความแข็งแรงมากขึ้น

กรณีที่ไม่เหมาะในการทำสะพานฟัน

  • - ระยะช่วงที่ถอนฟันออกไปเป็นช่วงยาว
  • - ฟันหลักไม่แข็งแรงพอ

2. ฟันปลอมบางส่วนชนิดถอดได้

คือฟันปลอมที่ทำขึ้นให้กับผู้ที่ยังมีฟันธรรมชาติเหลืออยู่ เป็นการใส่ฟันเพียงบางส่วนและเป็นฟันปลอมที่สามารถถอดออกมาล้างทำความสะอาดได้

กรณีที่เหมาะในการทำฟันปลอมบางส่วนชนิดถอดได้

  • - ฟันหลักด้านท้ายไม่มีทำให้ไม่มีฟันหลักเพื่อยึดสำหรับทำสะพานฟัน
  • - ระยะช่วงที่ถอนฟันออกไปเป็นช่วงยาว
  • - ช่วงที่เพิ่งถอนฟันไปใหม่ๆ เหงือกยังไม่ยุบสนิทดี ถ้าคอยจนแผลหายเหงือกจะยุบลงไปอีก อาจทำฟันปลอมชนิดถอดได้ใส่ไปก่อนเมื่อสันเหงือกยุบสนิทดีจึงมาเสริมฐานฟันปลอมต่อ การใส่ฟันเร็วจะช่วยคงสภาพสันเหงือกทำให้เหงือกเต็มไม่ยุบตัวมาก

การใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้ ต้องมีตะขอโยงเพื่อยึดฟันอาจทำให้รู้สึกรำคาญ เป็นที่กักขังของเศษอาหาร รับประทานอาหารไม่สะดวกและไม่สวยงาม

3. ฟันปลอมทั้งปาก

กรณีที่เหมาะในการทำฟันปลอมทั้งปาก

  • - ไม่มีฟันธรรมชาติเหลืออยู่แล้ว
  • - ฟันที่เหลืออยู่มีน้อยซี่ รูปร่างฟัน, กระดูกยึดรอบรากฟันไม่ดี ฟันโยกมาก ใช้เป็นหลักยึดไม่ได้
  • - สุขภาพช่องปากไม่ดี มีฟันผุมาก ควรถอดทิ้งแล้วทำฟันปลอมทั้งปาก
  • - ฟันที่เหลืออยู่ไม่สวย อยู่ในตำแหน่งที่ไม่ดี มีแนวด้านสบฟันห้อยหรืออยู่นอกสันเหงือก หากทำฟันปลอบถอดได้หรือติดแน่นโดยยึดแนวฟันเดิมจะไม่ได้ความแข็งแรงที่ดี ขาดการยึดแน่น และไม่สวยงาม

ประโยชน์ของทันตกรรมประดิษฐ์ในการทดแทนฟันที่สูญเสียไปมีดังนี้

  • ช่วยป้องกันการเคลื่อนหรือล้มของฟันซี่ข้างเคียง
  • ช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาของการถูกทำลายของเนื้อเยื่อโดยรอบ
  • ลดปัญหาความยุ่งยากในการทำความสะอาดฟัน ฟันผุ และโรคเหงือก เนื่องจากฟันล้มหรือฟันเคลื่อนที่ไปยังบริเวณที่ว่าง
  • ช่วยเสริมสร้างบุคลิกและรอยยิ้มที่สวยงาม
  • ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบดเคี้ยวอาหาร
  • อาจสามารถช่วยเพิ่มสมรรถภาพในการพูด
  • ช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาของรูปหน้าเนื่องจากการสูญเสียฟัน